มะเร็งรังไข่ มหันตภัยร้ายของสาวไทย เตรียมตัวรับมืออย่างไรดี?
จากผลการวิจัยรายงานว่า.. มะเร็งรังไข่ Ovarian Cancer ถือเป็นโรคมะเร็งสุดฮิต อันดับ 6 ที่สาวไทยชอบเป็นกัน และมักพบได้มากในช่วงอายุ 40 – 60 ปี ซึ่งผู้ป่วยโรคนี้จะมีอาการอึดอัดช่องท้อง ท้องเสีย ท้องผูก จู่ ๆ ก็น้ำหนักขึ้น รวมถึงมีเลือดออกผิดปกติจากช่องคลอด และถึงแม้ในปัจจุบันยังไม่พบสาเหตุที่แน่ชัดในการเกิดของโรคมะเร็งชนิดนี้
แต่จะดีกว่าหรือไม่? หากเราทราบสาเหตุที่แน่ชัดในการเกิดของเจ้ามะเร็งชนิดนี้ เพราะหากเรารู้ว่าปัจจัยที่ก่อให้เกิดคืออะไร เราก็จะหลีกเลี่ยงได้อย่างถูกต้องเพื่อลดโอกาสเสี่ยงนั่นเอง Boostuplifecenter จึงอาสารวบรวมข้อมูลดี ๆ สำหรับสาว ๆ ยุคใหม่ที่ต้องหันมาใส่ใจสุขภาพของตนเองมากขึ้น แล้วเราจะมีวิธีรับมืออย่างไรดี มาดูไปพร้อมกันเลย!
คนในครอบครัวมีประวัติเป็น มะเร็งรังไข่
สำหรับคนที่มีญาติพี่น้องหรือแม่ ที่เคยมีประวัติป่วยเป็นโรคมะเร็งรังไข่มาก่อน มีโอกาสที่จะเป็นมะเร็งชนิดนี้ด้วย โดยเฉพาะคนที่มีญาติสายตรงเป็นมะเร็งชนิดนี้แล้ว 2 คนจะมีโอกาสสูงมากกว่าปกติ นอกจากนี้ครอบครัวที่มีประวัติเป็นมะเร็งชนิดอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นมะเร็งเต้านม มะเร็งเยื่อบุมดลูก รวมถึงมะเร็งลำไส้ จัดว่าอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งรังไข่ในอนาคตได้เช่นกัน
ซึ่งวิธีรับมือการปัจจัยเสี่ยงข้อนี้อาจทำได้ยาก เนื่องจากเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ดังนั้น เมื่อรู้ว่าคนในครอบครัวของเรามีประวัติเป็นมะเร็งร้ายชนิดนี้ อย่าลืมหมั่นไปตรวจสุขภาพเป็นประจำทุก ๆ ปี หากเรามีปัจจัยเสี่ยงสูง จะได้ปฏิบัติตัวได้อย่างถูกต้อง
มีประจำเดือนครั้งแรกเร็ว หรือ หมดประจำเดือนช้า
นอกจากผู้ป่วยส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงอายุ 40 – 60 ปีแล้ว จากสถิติยังระบุอีกด้วยว่าคนที่เริ่มมีประจำเดือนเร็วก่อนอายุ 12 ปี หรือ หมดประจำเดือนช้าหลังอายุ 55 ปีนั้น มีแนวโน้มที่จะเป็นโรคมะเร็งรังไข่สูง หากรู้ว่าเราอยู่ในกลุ่มปัจจัยเสี่ยงนี้แล้ว แนะนำให้ตรวจสุขภาพทุก ๆ ปี เพื่อประเมินสภาพร่างกายว่ายังแข็งแรงดีหรือไม่ หรือมีความเสี่ยงเกิดโรคในอนาคตหรือไม่ ทังนี้ เพื่อที่เราจะได้ปฏิบัติตนเองได้อย่างถูกต้องนั่นเอง
สภาพแวดล้อม และ สารปนเปื้อน
หากเราอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ดี หรืออยู่ในสถานที่ที่ใช้สารเคมีอยู่เป็นประจำ รวมไปถึงพื้นที่อุตสาหกรรม ซึ่งจะส่งผลทำให้เราเป็นโรคมะเร็งต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น และนั่นรวมไปถึงมะเร็งรังไข่ด้วย นอกจากนี้การอยู่กับสารปนเปื้อนหรือการใช้ครีมที่อวดอ้างสรรพคุณต่าง ๆ ตามอินเตอร์เน็ต ทาไปที่บริเวณอวัยวะเพศก็มีความเสี่ยงทำให้เป็นมะเร็งร้ายชนิดนี้ได้เหมือนกัน
ดังนั้น เมื่อรู้แล้วว่าสภาพแวดล้อมก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เกิดมะเร็งชนิดนี้ เราควรจะพยายามหลีกเลี่ยงให้ได้มากที่สุด แต่สำหรับเพื่อน ๆ ท่านไหนที่ต้องปฏิบัติงานที่ต้องพบเจอกับสารเคมีหรือสารปนเปื้อนอยู่เสมอ ซึ่งหากให้หลีกเลี่ยงก็อาจจะทำได้ยาก ซึ่งอาจต้องป้องกันตนเองให้ดี ไม่ว่าจะเป็นการใช้เครื่องมือ หรืออุปกรณ์ เพื่อป้องกันขณะปฏิบัติงาน และควรมีการตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละครั้ง
แล้วในบุคคลที่พบว่าป่วยเป็นมะเร็งรังไข่แล้ว จะมีวิธีรับมืออย่างไร ก่อนอื่นต้องบอกเลยว่า.. ให้ทำใจให้สงบ อย่าเพิ่งเครียด หรือวิตกกังวล ค่อย ๆ ตั้งสติ แล้วค่อยมาดูว่าแนวทางการรักษาของแพทย์เป็นอย่างไร และควรปฏิบัติอย่างไร นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจต้องศึกษาเกี่ยวกับการปฏิบัติตัวในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการเลือกรับประทานอาหาร การทำงาน การออกกำลังกาย รวมไปถึงการนอนหลับพักผ่อน เพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพสูงที่สุด แล้วการรักษาเจ้ามะเร็งร้ายชนิดนี้ในปัจจุบันนั้นมีการรักษาด้วยวิธีใดบ้าง ..
การรักษาโรค มะเร็งรังไข่
การรักษาโรคมะเร็งนั้นมีอยู่ 5 วิธีหลัก ได้แก่ การผ่าตัด การใช้ยารักษาตรงเป้า การใช้ยาเคมีบำบัด การใช้รังสี และการรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด โดยดูจากสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย อาการของผู้ป่วย อายุ และโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ ซึ่งการรักษาจะขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์ ว่าจะใช้การรักษาใดกับผู้ป่วยนั่นเอง
1. การผ่าตัด
โดยการผ่าตัดนี้มีอยู่หลายวิธีด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัดเฉพาะปากมดลูก การตัดรังไข่ ท่อนำไข่ การตัดเยื่อบุช่องท้อง รวมถึงการตัดส่วนของต่อมน้ำเหลือง ซึ่งจะนิยมใช้วิธีนี้กับผู้ป่วยที่มีก้อนเนื้อมะเร็งยังไม่ใหญ่มากและยังไม่ลุกลาม
2. การใช้ยารักษาตรงเป้า
เป็นการรักษาโดยใช้ยาที่มีสารออกฤทธิ์เฉพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง ข้อดีคือมีผลข้างเคียงน้อยกว่าการรักษาแบบการใช้ยาเคมีบำบัดและการการรักษาโดยใช้รังสี แต่ยานี้ค่อนข้างมีราคาสูง
3. การใช้ยาเคมีบำบัด
ยาเคมีบำบัด อาจเป็นยาชนิดทาน ยาชนิดฉีด หรือจะสลับกันใช้ทั้งคู่ก็ได้ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์ ทั้งนี้ก็เพื่อใช้ทำลายหรือยับยั้งไม่ให้เซลล์มะเร็งเติบโต
4. การใช้รังสีรักษา
วิธีการนี้แพทย์จะฉายรังสีที่อาจเป็นการฉายจากภายนอกร่างกาย หรือ ฉายตรงเข้าสู่ร่างกาย เพื่อฆ่าหรือทำลายเซลล์มะเร็งให้มีขนาดเล็กลง และหยุดการเจริญเติบโต
5. การรักษาโดยภูมิคุ้มกันบำบัด
เป็นการรักษาโรคมะเร็งโดยอาศัยการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันภายในร่างกาย เมื่อมีสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นไวรัส แบคทีเรีย และเซลล์มะเร็ง อยู่ในร่างกาย ระบบภูมิคุ้มกันจะถูกกระตุ้นให้กำจัดสิ่งแปลกปลอมนั้น ๆ ออกไป
เป็นอย่างไรบ้าง.. การเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับมะเร็งรังไข่ หากปัจจัยเสี่ยงไหนที่ตัวเราสามารถหลีกเลี่ยงได้ ก็พยายามหลีกเลี่ยง แต่หากใครที่ต้องปฏิบัติงาน ซึ่งต้องเกี่ยวข้องกับการใช้สารเคมี ทาง Boostuplifecenter แนะนำว่าให้ป้องกันตนเองให้มิดชิดอย่างดี และหมั่นตรวจสุขภาพทุก ๆ ปี อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อประเมินสภาพร่างกายของเรา นอกจากนี้อย่าลืมเลือกทานอาหารที่เป็นประโยชน์ และออกกำลังอย่างสม่ำเสมอ
No responses yet